วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

พระพุทธชินสีห์ (วัดบวรนิเวศวิหาร)

พระพุทธชินสีห์ (วัดบวรนิเวศวิหาร)





พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแต่ครั้งสุโขทัย นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากที่สุดพระองค์หนึ่ง
       สมเด็จ พระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาจากพระวิหารทิศเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  เมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ในมุขหลังของพระอุโบสถ ซึ่งก่อขึ้นใหม่ อัญเชิญลงแพมาทั้งพระองค์ เมื่อฤดูน้ำ พ.ศ. ๒๓๗๒ แต่ได้ยินกันมาโดยมากว่ามุขหลังคามีมาแต่เดิม จึงรวมเป็น ๔ มุข ตามรูบเมรุของเจ้าจอมมารดา ของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงรจนาตำนานวัด ทรงสันนิษฐานว่า มุขหลังก่อทีหลัง ในเมื่อปรารภว่าจะเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมา เดิมคงมีแต่หลังหน้าซึ่งเป็นพระอุโบสถ หลังขวางซึ่งเป็นพระวิหาร แต่สร้างติดกันจึงดูเป็น ๓ มุข
      
ตำนานการสร้าง
พระพุทธชินสีห์นี้ มีตำนานกล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก  เจ้าเมืองนครเชียงแสน สร้างขึ้นพร้อมกับพระชินราชและพระศาสดา  เมื่อก่อน พ.ศ. ๑๕๐๐ มีเรื่องโดยย่อว่า 

พระศรีธรรมไตรปิฎก เจ้านครเชียงแสนยกกองทัพมาตีเมืองศรีสัชนาลัย (อยู่ในเมืองสวรรคโลกสมัยนั้น) แล้วสร้างเมืองพิษณุโลก พร้อมกับพระพุทธรูป ๓ พระองค์ โดยให้พวกช่างที่มีฝีมือในเมืองต่างๆมาประชุม ช่วยกันปั้นหุ่นเพื่อจะให้ได้งดงามผิดกับพระพุทธรูปสามัญแต่ท่านสันนิษฐานว่า พระเจ้าพระศรีมหาธรรมไตรปิฎกผู้สร้าง คือพระมหาะรรมราชาที่๑ รัชการที่ ๕ แห่งราชวง ศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เรียกโดยพระนามว่า พระเจ้าลือไทหรือลิไท 

ข้อที่ทำให้สันนิษฐานเช่นนั้นมีหลายประการ  คือสอบสวนไม่ได้ความจริงว่า มีเจ้านครเชียงแสนองค์ใด มีความรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก จนควรแก่พระนามนั้น และได้แผ่อำนาจลงมาทางใต้ในสมัยที่อ้างนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 1 ปรากฏว่าทรงรอบรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ทรงแต่งหนังสือเรื่องตรภูมิ  ซึ่งในทุกวันนี้เรียกันว่าไตรภูมิพระร่วง

พระเกียรติยศที่ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก คงเลื่องลือแพร่หลาย  จึงเรียกพระนามเฉลิมพระเกีรยติว่า พระศรีธรรมไตรปิฎก และเมื่อก่อนแต่ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้เป็นพระมหาอุปราชอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย  เมื่อพระเจ้าเลอไทพระราชบิดาสวรรคต เกิดจราจลขึ้นในพระนครสุโขทัย ต้องยกทัพลงมาปราบปรามจนราบคาบแล้วจึงได้เสวยราชย์ เรื่องนี้ตรงกับเค้าเรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัยในพงศาวดารเหนือ อีกประการหนึ่ง ลักษณะพระชินราช พระชินสีห์ ก็ด่างจากพระพุทธรูปอื่น ในบางอย่างเช่น มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้ว พระบาททั้ง ๔ นิ้วยาวเสมอกัน  ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะแสดงว่าผู้สร้างได้ทราบคัมภีร์นั้น พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลัง ได้ถือเป็นแบบสืบมาทุกวันนี้ พระพุทธรูปที่สร้างในเมืองไทยแต่ก่อนนั้น ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้ ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกันเหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ

       อนึ่งมีทรวดทรงและชายจีวรยาวแบบลังกา แสดงให้เห็นว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเลอไทยหรือลือไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐
       
ประวัติ
พระพุทธชินสีห์ พระพุทธชินราช มีลักษณะงดงามอย่างน่าพิศวง และนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงสยาม ได้เสด็จฯไปถวายนมัสการหลายพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาป็นราชธานี กล่าวเฉพาะพระพุทธชินสีห์เมื่อเมื่ออัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหลังของพระอุโบสถวัดนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อทรงเสด็จมาผนวชอยู่ครองวัดนี้ ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อัญเชิญย้ายจากมุขหลังออกสถิตหน้าพระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือพระโต เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ ปิดทองก้าไหล่พระรัศมีฝั่งพระเนตรใหม่ และติดพระอุนาโลม
ส่วนมุขหลังอัญเชิญพระไสยาสน์เข้าไว้แทน ต่อมาได้รื้อมุขหลัง น่าจะเพื่อขยายทักษิณพระเจดีย์ออกมาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนพระไสยาสน์น่าจะคงยังอยู่หลังพระอุโบสถ ณ ที่ติดพระบาทจำลองในบัดนี้ ต่อมาได้อัญเชิญไปไว้ในวิหารพระศาสดาเมื่อทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ตรัสให้แผ่ทองคำทำพระรัศมีลงยาราชาวดีประดับพระรัศมีเดิมอีกชั้นหนึ่ง ถวายฉัตรตาด ๙ ชั้นถวายผ้าทรงสพักตาด ต้นไม้ทองเงิน เมื่อพ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดหล่อ  ด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทองใหม่ มีการสมโภช เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ ทรงสมโภชอีกและถวายพระธำมรงค์หยกสวมนิ้วพระอังคุฐซ้าย ( แหวนที่นิ้วหัวแม่มือซ้าย) เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙
ในรัชการที่ ๕ก็ได้ทรงปิดทองและโปรดให้มีการสมโภช พร้อมด้วยการฉลองพระอารามที่ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ และทรงสร้างเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ พระพุทธชินสีห์ มีพระอัครสาวกยืนคู่หนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างภายหลัง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.watbowon.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น