วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

หลวงปู่ทวด วัดเอี่ยมวรนุช


นะโมโพธิสัตโต

อาคันติมายะ

อิติภะคะวา

รูปหล่อหลวงปู่ทวด ที่วัดเอี่ยมวรนุช กทม.



ในบรรดาพระเครื่องในรูปของพระพุทธหรือรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นพระบูชา พระแขวนคอ ผ้ายันต์ ฯลฯ องค์ที่ได้รับการสร้างมากที่สุด(ตามความคิดของผม) รูปพระพุทธต้องเป็นหลวงพ่อโสธร พระเกจิฯต้องเป็นหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ ซึ่งในบทความตอนนี้ผมขอเขียนเฉพาะรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เท่านั้น  เพื่อนๆลองไล่เรียงสิครับว่าพระอมตะเถราจารย์ในเมืองไทยเอาที่มรณภาพไปแล้วมีองค์ใดบ้าง เอาแบบที่มีชื่อเสียงแพร่หลายนะ เริ่มตั้งแต่ภาคเหนือ ได้แก่ครูบาศรีวิชัย ภาคอีสาน หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต ภาคกลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  วัดระฆังฯ และ..ภาคใต้  หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) แห่งวัดช้างไห้


..





 ในบรรดาพระอมตะเถระเจ้าทั้งสี่องค์นี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า หลวงปู่ทวด( เหยียบน้ำทะเลจืด) วัดช้างไห้ถือว่าเป็นพระที่มีการจัดสร้างออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่วัดช้างไห้เอง หรือวัดต่างๆ ในประเทศไทย ต่างมาขอพึ่งบารมีหลวงปู่ทวดเกือบทั้งนั้น หรือเอาง่ายๆเด็กสมัยใหม่ยังรู้จักหลวงปู่ทวดมากกว่าสมเด็จวัดระฆังหรือสมเด็จบางขุนพรหมเลย..พูดให้เป็นภาษาประกิตก็คือค่อนข้าง สากล แหละครับ

ด้วยการที่มีความเป็น สากล นี่แหละครับที่ส่งผลให้พระเครื่องหลวงปู่ทวดเป็นที่นิยมจัดสร้างกันทั่วไป วัดไหนๆ ก็สร้างกันได้  ตามความคิดของผมน่าจะมาจากการที่หลวงปู่ทวดท่านเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดต่างๆจึงนิยมสร้างหลวงปู่ทวดขึ้นเป็นวัตถุมงคลเพื่อให้คนนำไปสักการบูชา ป้องกันอันตรายให้กับตนเอง รวมไปถึงเป็นวิธีการจัดหาทุนในการสร้างหรือบูรณะถาวรวัตถุภายในวัด

ประเด็นมีอยู่ว่า...พระเครื่องหลวงปู่ทวดที่สร้างกันขึ้นมานั้นมีความขลังหรือมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงไร?..

ซึ่งประเด็นนี้มีคำตอบแน่นอนคือ ขึ้นอยู่กับองค์อาจารย์ผู้สร้างว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะการสร้างพระเสกพระจะให้ขลัง ให้ศักดิ์สิทธิ์ องค์อาจารย์ผู้เสกต้องมีความสามารถอัญเชิญพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพและกฤตยาคมต่างๆ เข้าในวัตถุมงคลนั้นๆได้


พระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้..ถ่ายที่วัดเอี่ยมวรนุช




..

หากเราย้อนหลังไปดูประวัติการสร้างพระหลวงปู่ทวด มีการจัดสร้างอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ นับจนถึงปัจจุบันปี ๒๕๕๑ ก็เป็นเวลา ๕๔ ปี ซึ่งถือว่าไม่นานเท่าไรยังพอมีคนรู้คนเห็นจนถึงบางทีคนที่เคยร่วมสร้างอาจยังมีชีวิตอยู่ด้วย...และเมื่อเราศึกษาถึงการสร้างหลวงปู่ทวดอย่างถ้องแท้แล้วจะพบว่า ในวงการพระเครื่องจะให้ความนิยมและสนใจกับพระหลวงปู่ทวดที่สร้างจากพระอาจารย์สององค์คือท่านอาจารย์ทิม อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานีและท่านอาจารย์นอง อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว จังหวัดปัตตานี


..

..

ในอดีตสมัยท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ ยังมีชีวิตอยู่ พระอาจารย์นอง นับเป็นพระคู่ทุกข์คู่ยากของพระอาจารย์ทิมอย่างแท้จริง และสมัยนั้นมีพระอาจารย์อยู่สามองค์ที่เป็นสหธรรมมิกซึ่งกันและกันคือ ท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ เป็นพี่ใหญ่เนื่องจากอาวุโสสูงสุด ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อวัดนาประดู่ เป็นศิษย์น้องรองลงมา และท่านพระอาจารย์นอง วัดทรายขาว เป็นน้องเล็กสุดท้าย พระอาจารย์ทั้งสามท่านนี้ถือเสมือนหนึ่งเป็นพระพี่พระน้อง ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกันมา พลังศรัทธาของประชาชนจึงมีให้ทั้งสามองค์นี้อย่างเท่าเทียมกัน....(ตามรูป)


 
..

ย้อนเวลาหาอดีตกลับไปในปี ๒๔๙๗ ครับในตอนสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด เนื้อว่านรุ่นแรกนั้น..พระอาจารย์นองท่านเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการจัดหาว่านต่างๆมาให้พระอาจารย์ทิมสร้างพระ และเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมการสร้างพระครั้งนี้...ประสบการณ์ในครั้งนั้นเสมือนเป็นประกาศนียบัตรรับรองความสามารถผ่านงานเสริมเข้ากับวิทยาคมที่ตัวท่านเองมีอยู่แล้ว..ส่งให้ท่านพระอาจารย์นองก้าวขึ้นทำเนียบพระเกจิอาจารย์แนวหน้าของเมืองไทยองค์หนึ่ง

ด้วยความนิยมของวงการพระเครื่องที่มีกับพระหลวงปู่ทวด เนื้อว่านรุ่นแรกส่งผลให้ราคาค่าบูชาที่เช่าหากันสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆหมดโอกาสในการเช่าหาและครอบครองพระเครื่องรุ่นแรกที่ท่านพระอาจารย์ทิมได้สร้างไว้ ดังนั้นพระหลวงปู่ทวดที่สร้างโดยท่านพระอาจารย์นอง จึงเป็นทางเลือกให้กับพวกเราอีกครั้ง

ท่านพระครูธรรมกิจโกศล หรือ ท่านพระอาจารย์นอง  ธมมภูโต เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อของจังหวัดปัตตานี ทำให้วัดต่างๆที่สร้างหลวงปู่ทวดต่างวิ่งหาเพื่อให้ท่านพระอาจารย์นองช่วยอธิษฐานจิตหรือปลุกเสกให้ ในจำนวนวัดต่างๆเหล่านี้วัดเอี่ยมวรนุช กรุงเทพมหานครรวมอยู่ด้วย ความสัมพันธ์ของวัดเอี่ยมวรนุชกับพระอาจารย์นอง มีให้กันมายาวนานตั้งแต่สมัยพระอาจารย์ทิมท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยพระอาจารย์ทิมเมื่อท่านมากิจนิมนต์ที่กรุงเทพ ท่านก็จะมาพำนักอยู่ที่วัดเอี่ยมวรนุชแห่งนี้ และถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดเพี้ยนมากนักพระอาจารย์ทิม ท่านก็มรณภาพที่วัดแห่งนี้ด้วย....
ความสัมพันธ์หรือความผูกพันธ์ครั้งนั้นสืบเนื่องมาจนถึงสมัยท่านพระครูธรรมกิจโกศล หรือพระอาจารย์นอง ธมมภูโต เจ้าอาวาสวัดทรายขาว(ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นสหธรรมิกรุ่นน้อง ได้แผ่บารมีแผ่เมตตาเข้ามาโอบอุ้มรับสืบสานความช่วยเหลือแก่วัดเอี่ยมวรนุชเฉกเช่นเดี่ยวกันที่ท่านพระอาจารย์ทิมเคยปฏิบัติมา ดังนั้นพระหลวงปู่ทวด ที่ออกจากวัดเอี่ยมวรนุชจึงค่อนข้างมีความพิเศษอยู่ตรงนี้

พระรุ่นที่ผมจะพูดถึงนี้คือรุ่น บูรณะอุโบสถ วัดเอี่ยมวรนุช กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระชุดนี้ท่านพระอาจารย์นอง ได้อนุญาตให้เข้าพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ วัดทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา หลังจากเสร็จงานมหาพุทธาภิเษกแล้วท่านพระอาจารย์นองยังรับเอาพระชุดนี้เข้าไปอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวอีกหลายเพลาที่เดียว (ตามรูป)









ที่ผมตัดสินใจเขียนเรื่องหลวงปู่ทวดที่ผ่านการปลุกเสกจากพระอาจารย์นองในตอนนี้เนื่องจากได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงร่วมอุดมคติถึงราคาค่างวดในการเช่าหาพระหลวงปู่ทวด สายท่านพระอาจารย์นอง ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีราคาแพงขึ้นทุกขณะโดยไม่ต้องอิง กลไกทางการตลาด  เพียงแต่ผ่านขั้นตอนของศรัทธา อย่างเดียว ทุกชุดที่ท่านได้อธิษฐานจิตไว้เช่น ชุดแรกปี ๒๕๑๔ ปัจจุบันพิมพ์ใหญ่สวยๆ ต้องมี สามหมื่นบาทขึ้น หรือไล่ลำดับมาจนถึงรุ่นค่อนข้างสุดท้ายเช่นเนื้อว่านรุ่น มบ. ปี ๒๕๔๒ ที่สร้างเป็นกรณีพิเศษให้กับ ดร.ไมตรี บุญสูง ซึ่งประกอบพิธีพุทธาภิเษกไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ปัจจุบันสภาพพอสวยไม่ฝังตะกรุดก็ตกองค์ละเกือบสองพันบาท ถ้าฝังตะกรุด เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึงเลย...ข่าวล่าสุดหนึ่งหมื่นสองพันบาทครับ..(ตลาดพันธุ์ทิพย์)
ปัจจุบันท่านพระอาจารย์นอง ได้ถึงแก่มรณภาพแล้วครับเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๒  เวลา ๐๓.๒๗ น. ณ.โรงพยาบาลโคกโพธิ์ สิริอายุ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา ได้รับพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดทรายขาว เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งแม้สังขารของท่านจะสลายไปแต่ความดี ของท่านที่มีอยู่มากมายส่งผลให้ท่านยังคงเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ นอกจากนี้แล้วความเข้มแข็งในวิทยาคมยังส่งผลให้ท่านกลายเป็นตำนานบทหนึ่งคู่กับพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ ใน "ฐานะพระผู้ก่อให้เกิดตำนานความศักดิ์สิทธิ์" ของพระเครื่องเมืองใต้ ที่แผ่บารมีความศักดิ์สิทธิ์ไปทั่วประเทศในนาม "หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้" แหละครับ...


..



..

..

ถึงตอนนี้ผมอยากให้เพื่อนๆลองย้อนกลับไปดูรายละเอียดของวัดเอี่ยมวรนุช รุ่นบูรณะอุโบสถ ซิครับ เห็นมั๊ยครับว่าเหมือนกันเพราะพระทั้งสองชุดนี้ผ่านพิธีเดียวกันครับ...แต่ราคาต่างกันลิบลับและที่สำคัญคือรุ่น มบ.ปัจจุบันหายากเย็นแสนเข็ญ เสี่ยงกับของเทียมลอกเลียนแบบ..แต่ของวัดเอี่ยมวรนุชกลับพบหาได้ทั่วไปตามแผงพระสามารถเช่าหาได้ในราคาไม่เกินห้าร้อยบาท (ขณะที่เขียนผมยังไม่ได้เข้าไปดูที่วัดเอี่ยมวรนุช สันนิษฐานว่าน่าจะยังมีหลงเหลือให้ทำบุญอยู่) ประการสำคัญคือของเทียมลอกเลียนแบบยังไม่ได้กำเนิดขึ้น.....

..

..

เขียนมาอย่างนี้ไม่อยากให้เพื่อนๆคิดว่านี่คือพระทางเลือก หรือพระที่นำมาแทนกันได้ ในความเป็นจริงแล้วผมคิดว่าไม่มีอะไรมาแทนซึ่งกันและกันได้ ทุกอย่างเป็นของเฉพาะสิ่ง เฉพาะอย่าง ขึ้นอยู่กับเราจะหยิบ จะชูหรือจะใช้สิ่งไหนให้ตรงให้เหมาะกับสภาพของตัวเราต่างหากจริงมั๊ยครับเพื่อน...แต่ของแพงๆ ให้ผมฟรีๆ ก็เอานะครับ ฮ่า..ฮ่า....สวัสดีครับ

ปล.รูปประกอบเรื่องจากนิตยสารปรกโพธิ์ สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม ด้วยความจริงใจ ....ฉบับที่ ๗๘ / ๓๐ เม.ย.-๓๐ มิ.ย. ๔๒  ขอบคุณครับ...


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/sitthi/2008/04/29/entry-1


อัพเดท วันที่ 29/9/2554 ที่วัดเอี่ยมวรนุช ยังมีหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ และหลวงพ่อทวดวัดทรายขาว อาจารย์นอง ให้เช่าบูชาอยู่หลายรุ่นครับ ใครที่มีรถแนะนำว่า น่าบูชาไว้ในรถ เดินทางไปไหนอาราธนาท่านจะอุ่นใจและปลอดภัย เคยได้ยินคนเล่ากันว่า "ไม่เคยปรากฏแม้สักรายว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูหรือปอเต็กตึ้งได้เก็บศพผู้ที่มีมงคลวัตถุหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด บูชาติดตัว" บางคนก็บอกว่า "แขวนหลวงปู่ทวด ไม่ตายโหง"  แต่ส่วนตัวแล้ว อุ่นใจทุกครั้งที่เดินทางครับ ใครเข้าโครงการรถคันแรกของรัฐบาล รถคันเล็กๆ เหล็กบางๆ อุปกรณ์ป้องกันน้อยๆ น่าจะอาราธนาท่านไว้หน้ารถครับ

อยากให้ได้ไปบูชากันครับ บางองค์ยังราคาเก่า เราๆท่านๆพอจะมีกำลังบูชากันได้ ที่สำคัญอยากให้คนเข้าวัดนี้เยอะๆ ตอนนี้ที่วัดเงียบสงบมากครับ ทั้งวัดมีพระอยู่ประมาณ 10 รูป ถ้าไปทำสังฆทานเจ้าอาวาสท่านให้พรดีมากๆ ครับ มีทั้ง ชินบัญชร พาหุง และคาถาอื่นๆ ที่แบบว่าผมฟังไม่ออก ทำบุญที่นี่แล้วรู้สึกดีครับ

วัดเอี่ยมวรนุช อยู่ตรงแยกบางขุนพรหม ตรงข้ามเยื้องๆ กับทางเข้าวัดสามพระยา ถนน สามเสน ประตูทางเข้าวัดเล็กๆ ถ้าจะเอารถเข้าไปในวัด ขอบอกว่าต้องตีวงตั้งแต่เลนสองไม่งั้นไม่พ้น อาจได้เสาประตูวัดติดรถกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกครับ



ปล.คุณป้าขายดอกไม้หน้าวิหารหล่วงพ่อทวด บอกว่ารูปหล่อหลวงพ่อทวดในวัดให้หวยแม่นมากก อันนี้ต้องลองกันเองนะครับ ^^
.. .. ..
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น